หลักธรรมที่ทำให้ชีวิตมีความสุข
          หลักธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  มี 84,000 พระธรรมขันธ์  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ัหัวได้เลือกมา 1 ข้อ เพื่อแนะนำให้ชาวไทยปฏิบัติ  เพื่อดำรงค์ชีวิตอย่างมีความสุข  คือหลักข้อ ฆราวาสธรรม
          พระพุทธเจ้าแบ่งคนในโลกนี้ออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
          1. อนาคาริยะ คือ ผู้ที่ไม่มีเรือน เช่น นักบวชหรือพระ
          2. อาคาริยะ คือ ผู้ครองเรือน ไม่ว่าจะโสดหรือมีครอบครัวก็ตาม เพราะใจผูกติดอยู่กับบ้าน หรือที่อยู่อาศัย
          เราเคยถามตนเองบ้างหรือไม่ว่า เราเกิดมาทำไม เป้าหมายของชีวิตคืออะไร ทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่ออะไร คำตอบที่จะได้รับคือ ความสุขในชีวิต คงไม่มีใครทำเพื่อความทุกข์ และองค์ประกอบอะไรที่จะนำไปสู่ความสุข  หลักธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั่นคือ ฆราวาสธรรม 4 ข้อ  ซึ่งได้แก่
          1. สัจจะ  ฆราวาสที่ดีต้องมีสัจจะ  ความหมายคือ ความจริง และ ตรง
          ความจริง เป็นคนจริง ตรงข้ามกับ เล่น  คนจริง คือทำอะไรทำจริง ๆ ทุ่มเทใจลงไปเลย มีความเด็ดเดี่ยว เชื่อมั่นในตนเอง
          ตรง เป็นคนตรง ตรงข้ามกับ คต คนตรงอยู่ที่ไหนก็อยู่ได้ ไม่สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น เหมือนไม้ที่ตรงไม่ว่าจะมาจากไหนก็ใช้ร่วมกันได้ ไ้ม้ตรงดูได้ที่ โคนต้น กลาง และปลาย ส่วนคนตรง ดูได้ที่ ความคิด คำพูด และการกระทำ
          สรุป คนที่มีสัจจะทำอะไรก็จะประสบความสำเร็จ อย่างรวดเร็ว ได้รับความไว้วางใจ และมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว
          2. ทมะ หมายถึง การพัฒนาตน ซึ่งมีความหมาย 2 นัยยะ คือ
          2.1  ฝึกฝีมือตนเองให้มีความรู้และมีความสามารถ คนที่มีความรู้แต่ไม่มีความสามารถก็อาจจะไม่ประสบผลสำเร็จ ความรู้จึงต้องคู่กับความสามารถ นั่นก็คือ การมีศิลปะที่จะนำความรู้ไปใช้ ผู้ที่จะทำได้อย่างนั้นต้องเป็นคนช่่างสังเกต คนที่ช่างสังเกตจะเป็นคนใจละเอียด ช่างสังเกตในที่นี้คือ สังเกตข้อดีของผู้อื่น หรือคอยจับถูกของผู้อื่น ไม่ใช่จับผิดของผู้อื่น
          2.2  ต้องสามารถหยุดตัวเองได้ คือ ชนะใจตัวเอง ไม่ให้ไปทำในเรื่องเสียหาย ไม่ทำความชั่ว ไม่ถลำไปในทางที่เสื่อม นั่นคือ ต้องรักษาศิล 5 ได้ และไม่ยุ่งกับอบายมุข
          ศิลแปลว่าปกติ คนผิดศิล คือคนผิดปกติ ศิลเป็นเครื่องจำแนกคนออกจากสัตว์
         

              

 

 

        3. ขันติ คือความอดทน มีอยู่ 4 ระดับ
          ระดับที่ 1  อดทนต่อความลำบากตรากตรำ  อดทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศ  หนักเอาเบาสู้ ไม่ท้อถอย
          ระดับที่ 2  อดทนต่อทุกข์เวทนา เมื่อเจ็บป่วยก็ไม่สำออย ไม่โวยวาย  ต้องเข้าใจว่าคนเรา เกิดแก่เจ็บตาย เป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต เมื่อเจ็บไข้หรือป่วยไข้ ก็ต้องรู้จักรักษาดูแลตนเองและหาหมอตามความจำเป็น เจ็บป่วยร่างกายให้หมอรักษา  แต่ใจเราต้องดูแลเองด้วยการฝึกสมาธิ
          ระดับที่ 3 อดทนต่อการเจ็บใจ อดทนต่อความกระทบกระทั่ง  การอยู่กับคนหมู่มากย่อมเกิดปัญหากระทบกระทั่งไม่มากก็น้อย เหตุที่เกิดก็จะมาจากความถือตัวเอง  ถือศักดิ์ศรี  คนที่ถือตัวเองมาก ๆ ความทุกข์ยิ่งมาก คนที่ไม่ถือตัวจะมีความสุข  ศักดิ์ศรีไม่อยู่ที่ความถือตัวหรือยศถาบรรดาศักดิ์ แต่มีอยู่ที่คุณธรรมที่มีอยู่ในตัวคือคุณธรรมภายใน
          ระดับที่ 4 อดทนต่อสิ่งเย้ายวน ความเย้ายวนใจ เช่น 1.เพศตรงข้าม  2.เรื่องสตางค์หรือลาภที่ไม่ควรได้ หรือความโลภ  ความไม่พอ  3.คำสรรเสริญเยินยออันจะนำมาซึ่งความประมาทและหลงตัวเอง ต้องเ้ป็นคนเท้าติดดิน แล้วจะยืนอย่างมั่นคงปลอดภัย
          4. จาคะ แปลว่าการสละ  ซึ่งมี 2 อย่างคือสละสิ่งของให้เป็นทาน และการสละอารมณ์บูดอารมณ์เน่าออกจากตัว
          - การสละสิ่งของให้เป็นทาน  มนุษย์เราเติบโตมาด้วยการให้ทานจากพ่อแม่ ญาติพี่น้อง  ครูอาจารย์และสังคม  เมื่อถึงเวลาที่มีพอจะให้ได้ ต้องรู้จักให้ทาน เพื่อให้สังคมและโลกสงบ และสวยงาม
          -  การสละอารมณ์บูดและเน่าออกจากใจ จะทำให้ใจสะอาด สงบ  สดชื่น  เบิกบาน อย่าทำตัวเป็นคน แบบคนกอดศพอยู่ตลอดเวลา ร่างกายของเราหรือสรีระยนต์ ก็ต้องมีการยกเครื่อง เช่นเดียวกับรถยนต์  การทำความสะอาดใจ ก็จะทำให้ร่างกายของเรามีประสิทธิภาพ
          โดยสรุปจะเห็นว่า หลักของฆราวาสธรรม 4 ครอบคุมหลักปฏิบัติของผู้ครองเรือน  หากผู้ใดนำไปปฏิบัติแล้วจะพบกับความสุขที่แท้จริงอย่างแน่นอน

          รวบรวมจากคำเทศนาของพระมหาสมชาย  ฐานวุฒโฒ
           MD:MA:Doctor Candidate (Buddhist Studies)
              Dip. in Chainese: Dip. in Japaness.  วัดพระธรรมกาย
         

นำเสนอโดย  ผกามาศ  บุญธรรม

กลับหน้าแรก

มุมสว่างที่กลางใจเดือนพฤษภาคม46